Download (รายงานฉบับเต็ม)

บทสรุปผู้บริหาร

การเติบโตของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกหรืออีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมูลค่าของตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มเติบโตสูงสุดประมาณร้อยละ 27 ภายในปี ค.ศ. 2019 โดยเฉพาะการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ข้อมูลของ UNCTADปี ค.ศ. 2017 ระบุว่า ประเทศที่เป็นสมาชิก UNCTADมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของยอดขายของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 25.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็น 22.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจ (Business-to-Business: B2B) และ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภค (Business-to-Customer: B2C) โดยมีจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภคมากที่สุดถึง 617 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจมากที่สุดถึง 6,443 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ด้านการเติบโตของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจภายในประเทศ สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้ข้อมูลว่า มูลค่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปี พ.ศ. 2560 มีประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 9.86ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ที่ร้อยละ 59.56คิดเป็นมูลค่า 1,675,182.23 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.63เป็นการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภค ที่ร้อยละ 28.98คิดเป็นมูลค่า 812,612.68ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 15.54และเป็นการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับภาครัฐ (Business-to-Government: B2G) ที่ร้อยละ 11.55คิดเป็นมูลค่า 324,797.12 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.24

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และร่วมจัดทำแผนพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560– 2564) โดยคณะกรรมการ Digital Economyภายใต้ สรท. ได้กำหนดกลไกในการให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ เพื่อให้คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบาย โดยมีตัวแบบ (model) และแผนงานที่ครอบคลุมหลักการสำคัญ 3ประการ ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนัก (awareness) 2) การเข้าถึงเทคโนโลยี (access to technology) และ 3) การประยุกต์หรือการใช้ที่สอดคล้อง (application) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของการทำการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจของประเทศต่อไป

วัตถุประสงค์ของข้อเสนอแนะคือ เพื่อการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการส่งออกต่างๆ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ผู้ซื้อหรือลูกค้าไม่ทราบว่าผู้ประกอบการมีสินค้าเหล่านี้ หรือขั้นตอนการจัดทำเอกสารส่งออกยุ่งยากและมีการจ่ายค่าธรรมเนียมปลีกย่อย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรค ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้ การพัฒนาแพลตฟอร์มนี้จะช่วยแก้ปัญหา และตอบโจทย์แก่ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ขอบเขตข้อเสนอแนะการพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ ครอบคลุมถึง 1) การศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนา ยกระดับแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจของประเทศ 2) การให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ และ 3) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศและผู้ถือผลประโยชน์ร่วม (stakeholder) เช่น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจจากการทำงานแบบเดิม ไปสู่การทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ให้มีความรวดเร็ว และปรับลดขั้นตอนทางการค้าได้

กรอบแนวคิดการพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ (Cross-Border B2B e-Trading Platform) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564)3) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 3 4) การพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) และ 5) การพัฒนาระบบ Post Community System(PCS) เพื่อรองรับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำเนินการผ่านระบบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวของประเทศตั้งแต่เชิงนโยบายไปสู่เชิงปฏิบัติ

สรท. ตระหนักถึงความสำคัญของการเติบโตอย่างรวดเร็วของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเล็งเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มกลางเพื่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศที่ให้บริการ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการอย่างเต็มรูปแบบ สรท.จึงสนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ในการกำหนดมาตรฐานทางการค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของUN/CEFACTเพื่อการอํานวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ ภาครัฐกับธุรกิจ และธุรกิจกับธุรกิจได้ โดยมีหัวใจสำคัญของการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ 1) การปรับกระบวนการให้ง่ายขึ้น 2) การลดขั้นตอนทางเอกสารให้เป็นแบบฟอร์มเดียวกัน และ 3) การกำหนดรหัสสินค้าและมาตรฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ สรท. ยังได้มีการศึกษาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก เพิ่มเติมซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญ เช่น การค้าของประเทศสิงคโปร์ได้ริเริ่มการพัฒนาระบบ NSWชื่อ TradeNet รองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับภาครัฐ และการพาณิชย์แบบภาครัฐกับภาครัฐ เพื่อปรับปรุงลดขั้นตอนการนำส่งเอกสารการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพิ่มความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ขายในการขนส่งสินค้า ผ่านโครงการชื่อ TradeXchangeและปัจจุบัน กรมศุลกากรประเทศสิงคโปร์กำลังดำเนินการย้ายบริการที่มีอยู่บนระบบ TradeXchangeและ TradeNet ไปยังแพลตฟอร์มการค้าของประเทศสิงคโปร์ (National Trade Platform: NTP) ซึ่งจะเป็นระบบนิเวศน์ด้านสารสนเทศเพื่อการค้าแบบครบวงจรที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนได้กับทุกหน่วยงานของสิงคโปร์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ ธนาคารกลางของสิงคโปร์และฮ่องกงได้ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายเพื่อการซื้อขายทั่วโลก (Global Trade Connectivity Network: GTCN) โดยคาดว่าจะมีการเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562

กลุ่มธุรกิจอาลีบาบา เป็นตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมหลัก ได้แก่ 1) อาลีบาบาดอทคอม (Alibaba.com) แพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ รองรับการขายส่ง 2) ทีมอลล์ดอทคอม (Tmall.com) แพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภครองรับการค้าปลีก และ 3) เถาเป่าดอทคอม (Taobao.com) แพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบผู้บริโภคกับผู้บริโภค ซึ่งการศึกษาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกของประเทศสิงคโปร์และกลุ่มธุรกิจอาลีบาบา ได้ถูกใช้เป็นแนวทางการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจของประเทศไทยต่อไป

รายงานฉบับนี้ใช้วิธีศึกษาข้อมูล 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1. การนำเสนอแนวทางตามหลักการ e-Trade for all ของ UNCTAD ซึ่งประกอบด้วย 1.การประเมินการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce assessments) 2. โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT infrastructure and services) 3. ระบบการชำระเงิน (payments)4. โลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ (trade logistics) 5. กรอบกฎหมายและข้อบังคับ (legal & regulatory frameworks) 6. การพัฒนาทักษะ (skill development) และ 7. การจัดหาเงินทุนสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (financing for e-commerce) ซึ่งหลักการดังกล่าว ถูกใช้เป็นแนวทางในการหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประกอบกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้ข้อสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และรูปแบบที่ 2. การศึกษาเก็บข้อมูลด้วยแบบสัมภาษณ์กับกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ Thaitrade.com ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และเคยใช้บริการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกมาแล้ว ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ผักและผลไม้สดและแปรรูป กลุ่มผลิตภัณพ์สมุนไพร และการแจกแบบสอบถามแก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลในเชิงปฏิบัติที่แท้จริง รวมถึงแนวทางการส่งเสริม และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นำไปสู่ข้อเสนอแนะการพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจที่ครอบคลุม

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ สรท.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามแนวทาง UNCTAD eTrade for all ต่อการพัฒนาและยกระดับแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจของประเทศ มีดังนี้ 1) การจัดทำดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประเมินความพร้อมของผู้ประกอบการ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจสู่ธุรกิจ 2) การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงการวางแนวทางป้องกันโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศวิกฤต เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความไว้วางใจต่อการใช้งานแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกข้ามพรมแดน 3) การส่งเสริมให้ผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร เข้าร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มฯ 4) การเร่งพัฒนาระบบ NSW ของไทยให้แล้วเสร็จ และสามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบ ASEAN Single Window (ASW) ของประชาคมอาเซียนตามหลักการมาตรฐานสากลของWCO และเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการเร่งพัฒนาระบบกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งผ่านท่า (Port Community System: PCS) และการส่งเสริมให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทย รวมกลุ่มพัฒนาระบบการขนส่งอิเล็กทรอนิกส์หรืออีโลจิสติกส์ที่เป็นมาตรฐาน ให้สามารถแข่งขันหรือทัดเทียมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ 5) การปรับปรุงการทำงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการทำธุรกรรมในระบบการพาณิชย์อิเล็กทรกนิกส์ และการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ให้รองรับและสนับสนุนการระบบพาณิชย์อิเล็กทรกนิกส์ 6) การจัดอบรมหลักสูตรการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา ตลอดจนการสร้างต้นแบบธุรกิจเพื่อปรับตัวไปสู่การเป็นดิจิทัล (digitalization)หรือการจัดตั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิสเพื่อช่วยให้คำแนะนำด้านการจัดหาซอฟต์แวร์หรือระบบที่สนับสนุนผู้ส่งออก เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มฯ และ 7) การจัดสรรงบประมาณของภาครัฐในแบบบูรณาการ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และใช้งบประมาณได้ตอบสนองความต้องการมากที่สุด รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล

การพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจเชิงปฏิบัติการสรท.จึงแบ่งการดำเนินงานในเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ ออกเป็น 3 ระยะ 1.ระยะที่ 1Online/ Offline ส่วนของแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งออกหรือผู้ซื้อกับผู้นำเข้าหรือผู้ขายข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ 2.ระยะที่ 2Online ส่วนของระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เดิมการชำระเงิน ผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อจะชำระเงินผ่านช่องทางของธนาคาร (banking portal) ไปยังผู้ส่งออกหรือผู้ขาย 3.ระยะที่ 3Online ส่วนของระบบการขนส่งอิเล็กทรอนิกส์ ภายหลังการดำเนินการเตรียมสินค้าและขนส่งสินค้าโดยผู้ขาย จะเป็นส่วนของระบบการขนส่งอิเล็กทรอนิกส์หรืออีโลจิสติกส์ (e-logistics) ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับระบบ NSW นอกจากแผนภาพแนวคิดการพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจข้างต้น สรท.ได้จัดทำแผนภาพแสดงลำดับขั้นตอน (flowchart) เพื่อแสดงรายละเอียดลำดับขั้นตอนของการส่งออกนำเข้าแบบเดิม โดยได้มีการแบ่งผู้ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันผ่านแพลตฟอร์มกลางเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ผู้ส่งออกหรือผู้ขาย 2.ผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อ 3. ภาคธนาคาร 4.ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และสายเรือ 5.หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะเชิงวิจัย (เบื้องต้น)ของ สรท.ข้อเสนอแนะจากการวิจัยเบื้องต้น ต่อการพัฒนาและยกระดับแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ แบ่งเป็น 5 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนที่ 1) ประเด็นการเข้าสู่ตลาดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในฐานะผู้ส่งออกหรือผู้ขาย แพลตฟอร์มควรช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ และสามารถช่วยควบคุมต้นทุนการส่งสินค้าไปต่างประเทศ เช่น การเสนอราคาที่มีความหลากหลายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ การลดความซับซ้อนของการขอเอกสารส่งออก รวมถึงการแสดงข้อมูลกฎระเบียบและเอกสารนำเข้าที่ถูกร้องขอจากประเทศปลายทางไว้บนแพลตฟอร์ม จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายมากขึ้น และควรมีระบบการคัดกรองลูกค้าปลายทางด้วยการลงทะเบียนหรือการตรวจสอบจากทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ หรือผู้ขายสินค้าช่วยคัดกรอง เพื่อช่วยรับรองและตรวจสอบข้อมูลของผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อต่างประเทศว่ามีตัวตนอยู่จริง ส่วนที่ 2) การบริการที่สนับสนุนด้านการเงิน และระบบการชำระเงินออนไลน์ แพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ ควรกำหนดวิธีการชำระเงินระหว่างผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อในต่างประเทศและผู้ส่งออกหรือผู้ขายที่ครอบคลุม รวมถึงการให้บริการสนับสนุนด้านการเงิน เช่น เงินทุนหมุนเวียน การประกันความเสี่ยงด้านการชำระเงิน เป็นต้น ส่วนที่ 3) การใช้บริการด้านโลจิสติกส์ แพลตฟอร์มควรสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้ากับระบบNSW ของกรมศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกขั้นตอนพิธีการศุลกากร และช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงแพลตฟอร์มควรเปิดให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์สามารถเข้ามาแข่งขัน เพื่อให้บริการบนแพลตฟอร์มให้มีความหลากหลาย ทำให้ผู้ส่งออกมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น ส่วนที่ 4) การเจรจาต่อรองเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มฯ แพลตฟอร์มกลางควรสามารถรองรับการกำหนดเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ เช่น การทำสัญญาการค้า (International Commercial Terms: Incoterm) สัญญาประกันภัยสินค้าขนส่งทางทะเล รวมถึงสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทันที ส่วนที่ 5) การฝึกอบรมผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการแพลตฟอร์ม หลังจากการพัฒนาแพลตฟอร์มได้แล้ว ควรสนับสนุนให้มีการจัดอบรมกับผู้ใช้บริการหรือสมาชิก (ผู้ส่งออกหรือผู้ขายและผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อ) เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม และอบรมการเลือกใช้เทอมการชำระเงินที่เหมาะสมกับผู้ส่งออก เป็นต้น ด้านข้อเสนอแนะอื่นๆ ผู้ประกอบการเห็นด้วยเรื่องการยกระดับ Thaitrade.com ให้เป็นแพลตฟอร์มธุรกิจกับธุรกิจที่สมบูรณ์มากขึ้น และสามารถซื้อขายออนไลน์ได้จริง และควรใช้วิธีตลาดนำระบบ เช่น แพลตฟอร์มควรจะต้องมีรายชื่อผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อของประเทศปลายทาง มีการแยกกลุ่มสินค้าเป็นหมวดหมู่ และควรปรับแพลตฟอร์มให้มีรูปแบบและขั้นตอนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกที่ง่ายขึ้น ทัดเทียมกับแพลตฟอร์มระดับโลก เช่น อาลีบาบา และควรจัดให้มีการทำ One Stop Service สำหรับผู้ที่จะเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *