Opportunity and Threat for Intra ASEAN Logistics (Thai – Vietnam) ตอนที่ 1
เส้นทางสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศและด่านชายแดนสำหรับการขนส่งสินค้า ไทย เวียดนาม
เวียดนามอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอินโดจีน (Indochinese Peninsula) มีชายฝั่งทะเลยาว 3,200 กิโลเมตร เวียดนามจึงใช้การขนส่งทางทะเลเป็นหลักในการทำการค้าระหว่างประเทศ ภาคใต้ เป็นศูนย์กลางทางการค้าและอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่พัฒนามาก่อนภาคเหนือ นครโฮจิมินห์จึงเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าและธุรกิจโลจิสติกส์ของเวียดนาม ภาคเหนือ ของเวียดนามเติบโตมากขึ้น เนื่องจากมีการค้าขายกับประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นอีกทั้งมีการลงทุนของผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ เช่น บริษัท Samsung บริษัท Microsoft บริษัท Panasonic และบริษัท Bridgestone ธุรกิจโลจิสติกส์ของภาคเหนือจึงพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองภาคการผลิตและการค้า ภาคกลาง ของเวียดนามมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล เช่น การต่อเรือ การประมงบริการโลจิสติกส์ เขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเล และการท่องเที่ยว นอกจากนั้น ภาคกลางยังมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของเวียดนาม และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามกับลาว รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เมียนมา และประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region) อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงระหว่างทางหลวง ทางหลวงฝั่งทะเล เส้นทางโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Trail) และทางรถไฟสายเหนือ – ใต้ที่ไม่ดี เป็นอุปสรรคทำให้ภาคกลางยังพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพ โดยภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการโลจิสติกในเวียดนามยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศเวียดนามที่มีลักษณะยาวและแคบ สำหรับความเชื่อมโยงการขนส่งจากประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศเวียดนาม ประกอบด้วย สปป.ลาว กัมพูชา และจีน จะมีเชื่อมโยงการขนส่งทางถนนและทางรถไฟ โดยเส้นทางสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศและด่านชายแดนสำหรับการขนส่งสินค้ามีรายละเอียด ดังนี้
เส้นทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ (ทางถนน)
สปป.ลาว (7 ด่าน) (1) ด่าน Tay Trang ของเวียดนาม (จังหวัดเดียนเบียน Dien Bien) และด่าน Sohbun ของ สปป.ลาว (แขวงพงสาลี) (2) ด่าน Na Meo ของเวียดนาม (จังหวัดทานหวา Thanh Hao) และด่าน Namsol ของ สปป.ลาว (แขวงหัวพัน) (3) ด่าน Nam Can ของเวียดนาม (จังหวัดแง่อาน Nghe An) และด่าน Namkan ของ สปป.ลาว (แขวงเชียงขวาง) (4) ด่าน Cau Treo ของเวียดนาม (จังหวัดฮาติน Ha Tinh)และด่าน Namphao ของ สปป.ลาว (แขวงบอลิคำไซ) (5) ด่าน Cha Lo ของเวียดนาม (จังหวัดกวางบิน Guangbinh)และด่าน Naphao ของ สปป.ลาว (แขวงคำม่วน) (6) ด่าน Lao Bao ของเวียดนาม (จังหวัดกวางตริ Quang Tri) และด่าน Dansavanh ของ สปป.ลาว (แขวงสะหวันนะเขต) (7) ด่าน Bo Y ของเวียดนาม (จังหวัดกอนตูม Kon Tum) และด่าน Phoukeau ของลาว (แขวงอัตตะปือ) |
กัมพูชา (6 ด่าน) (1) ด่าน Moc Bai ของเวียดนาม (จังหวัดเตนิน Tay Ninh) และด่าน Bavet ของกัมพูชา (จังหวัดสวายเรียง) โดยเป็น ด่านการค้าที่มีความสำคัญที่สุดของเวียดนามกับกัมพูชา (2) ด่าน Hatien ของเวียดนาม (จังหวัดเกียนชาง Kien Giang)และด่าน Prek Chak ของกัมพูชา (จังหวัดกัมปอด Kampot) (3) ด่าน Dong Thap ของเวียดนาม (จังหวัดดินบา Dinh Ba) และด่านบันเตียชาเกร็ต ของกัมพูชา (จังหวัด Prey Veng) (4) ด่าน Gia Lai ของเวียดนาม (จังหวัด Le Thanh) และด่าน Ou’ Yadav ของกัมพูชา (จังหวัดรัตคีรี) (5) ด่าน Binh Phuoc ของเวียดนาม (จังหวัด Hao Lu) และด่าน Trapeng Srae ของกัมพูชา (จังหวัด Kratie) (6) ด่าน Tay Ninh ของเวียดนาม (จังหวัด Xa Mat) และ ด่าน Prapeng Phlong ของกัมพูชา (จังหวัดกัมปงจาม) Kampong Charm) โดยที่ผ่านมา รัฐบาลของเวียดนามกัมพูชา และลาว มีโครงการจะพัฒนาการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างด่าน Tay Ninh ของเวียดนามไปยังประเทศกัมพูชาที่ผ่านจังหวัดกำปงจาม จังหวัดสเตร็งตึง และเข้าสู่แขวงจำปาสัก ของ สปป.ลาว เพื่อเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสามประเทศ |
จีน (3 ด่าน) (1) ด่าน Mong Cai ของเวียดนาม (จังหวัดกวางนิน Quang Ninh และด่าน Dongxing ของจีน (เมือง Fangchenggang เขตปกครองตนเองกวางสี) (2) ด่าน Huu Nghi ของเวียดนาม (จังหวัดหลันเซิน) และด่าน Youyiguan ของจีน (เขตปกครองตนเองกวางสี) (3) ด่าน Lao Cai ของเวียดนาม (จังหวัดลาวกาย) และด่าน Hekou ของจีน (มณฑลยูนนาน) จีนอนุญาตให้รถบรรทุกเวียดนามเข้ามาได้ 50 กิโลเมตรจากพรมแดน มายังเมืองผิงเสียง) แต่ในทางปฏิบัติรถ บรรทุกเวียดนามเข้าไปรับขนส่งสินค้าจากจีนที่ทำการเปลี่ยนถ่ายสินค้าและเปลี่ยนรถบรรทุก ณเขตเศรษฐกิจชายแดน ผิงเสียง ซึ่งอยู่ชายแดนจีน และอยู่ติดกับเมืองดองแดง จังหวัดหลังเซิน ซึ่งเป็นด่านมิตรภาพจีน-เวียดนาม หมายเหตุ เวียดนามพยายามผลักดันเปิดด่านใหม่เชื่อมกับจีน ได้แก่ ด่าน Ha Giang จังหวัด Thanh Thuy เชื่อมกับ ด่าน Tianbao เมือง Malipo มณฑลยูนนาน ซึ่งจีนยังไม่เห็นชอบให้เปิดด่านฯ ดังกล่าว |
เส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนามใช้เส้นทางขนส่งทางบก ประกอบด้วย 5 เส้นทางดังนี้
เส้นทาง ไทย – ลาว – เวียดนาม | ระยะทาง |
มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) – Quag Tri (เวียดนาม)(R9) | 230 กม. |
นครพนม-คำม่วน (สปป.ลาว) -Ha Tinh (เวียดนาม) (R12) | 210 กม. |
อุบลราชธานี – จำปาสัก (สปป.ลาว) – Koh Tum (เวียดนาม) | 250 กม. |
สระแก้ว-พนมเปญ (กัมพูชา) – Ho chi Minh (เวียดนาม) | 600 กม. |
ตราด-เกาะกง (กัมพูชา) – Ha Tien (เวียดนาม) | 230 กม |
เส้นทางขนส่งทางถนน ไทย ลาว เวียดนาม เข้าสู่จีน
การขนส่งสินค้าข้ามแดนที่สำคัญ ด่านขนส่งทางบก ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน GACC ให้เป็น ด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม เพื่อรองรับการส่งออกผักผลไม้ไทย ด่านตงซิงเป็นด่านพรมแดนทางบกแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่เมืองตงซิง อำเภอฝังเฉิงกั่ง เขตกว่างซีจ้วง ของจีน อยู่ห่างจาก ด่านหม่งไก๋ จังหวัดกว๋างนิญของเวียดนาม เพียง 100 เมตร โดยได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเป็นแห่งที่ 2 ของเขตกว่างซีจ้วง ต่อจากด่านโหย่วอี้กวน สามารถรองรับรถสินค้าเข้าออกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อวัน จึงเป็นด่านที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทย เพื่อช่วยลดความแออัดที่ด่านโหย่วอี้กว่าน ระยะเวลาการขนส่งจากสวนในจังหวัดจันทบุรีถึงด่านตงซิง ใช้เวลาขนส่งประมาณ 3-5 วัน
เส้นทางขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ (ทางรถไฟ)
ทางรถไฟเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ทั้งนี้ เส้นทางสำคัญส่วนใหญ่เชื่อมระหว่างเมืองหลวงฮานอยซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือกับเมืองสำคัญในภาคต่างๆ อาทิ
เส้นทาง | เส้นทาง | ระยะทาง | ระยะเวลา |
• ฮานอย-นครโฮจิมินห์ | เชื่อมระหว่างภาคเหนือ และภาคใต้ | 1,726 กิโลเมตร | ประมาณ 36-48 ชั่วโมง |
• ฮานอย-ไฮฟอง) | ภาคเหนือ | 102 กิโลเมตร | ประมาณ 3-4 ชั่วโมง |
• ฮานอย-Lao Cai | ภาคเหนือ | 296 กิโลเมตร | ประมาณ 9-10 ชั่วโมง |
• ฮานอย-Lang Son | ภาคเหนือ | 148 กิโลเมตร | ประมาณ 5-6 ชั่วโมง |
• ฮานอย-Thai Nguyen | ภาคเหนือ | 75 กิโลเมตร | ประมาณ 2-3 ชั่วโมง |
เวียดนามมีทางรถไฟยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตรประกอบด้วยเส้นทางหลัก 7 เส้น อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทรถไฟเวียดนาม (Vietnamese Railway Company) เนื่องจากขาดการลงทุน ระบบรางรถไฟของเวียดนามจึงยังคงเป็นแบบกว้าง 1 เมตร ทำให้ทางรถไฟของเวียดนามยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก ทำให้ยังไม่มีบทบาทสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนั้น การขนส่งทางรถไฟของเวียดนามไม่ปลอดภัยมากนัก เพราะจุดตัดทางรถไฟส่วนใหญ่ไม่มีการควบคุม ดังนั้น การขนส่งทางน้ำภายในประเทศและการขนส่งทางบกเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เวียดนามมีเขตเศรษฐกิจสำคัญตั้งอยู่ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคใต้ ซึ่งการขนส่งทางรถไฟของเวียดนามควรจะมีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้า แต่ในปัจจุบันการขนส่งทางรถไฟของเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามวางแผนจะปรับปรุงระบบการขนส่งทางรถไฟ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือระหว่างประเทศ นิคมอุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางรถไฟภายในประเทศของเวียดนามสามารถเชื่อมโยงกับทางรถไฟของจีน ทำให้สามารถใช้รถไฟข้ามพรมแดนไปถึงมณฑลยูนานและมณฑลกวางสีของจีนได้ แต่ไม่มีการเชื่อมโยงการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟ และยังไม่ได้มีการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อม ลาว และกัมพูชา
การขนส่งสินค้าทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าจากไทย สปป.ลาว เวียดนาม
ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับจีนหากประสงค์จะขนส่งผลไม้ผ่านเส้นทางทางบก จะต้องจัดทำความตกลงในรูปแบบพิธีสาร ซึ่งรัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามพิธีสารว่าด้วยการขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนผ่านประเทศที่ 3 มาตั้งแต่ปี 2552 แต่สามารถนำเข้าได้เพียง 2 ด่าน คือทางตอนใต้ของจีน ซึ่งใช้เส้นทางถนนเส้น R3A ในการขนส่งทางบก ได้แก่ ด่านโม่หาน มณฑลยูนนาน และด่านโหย่วอี้กว่าน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เท่านั้น
การขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับเวียดนามผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เที่ยวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าข้ามแดนขยายตัวสูงความต้องการใช้บริการที่มีเพิ่มมากขึ้น ด่านรถไฟผิงเสียง เป็นจุดข้ามแดนของขบวนรถไฟเส้นทาง การขนส่งสินค้าข้ามแดนที่สำคัญ ด่านรถไฟแห่งนี้ยังได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน GACC ให้เป็น ด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม รองรับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน นับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2563 รูปแบบในการขนส่งสินค้าเชื่อมเส้นทางรถไฟระหว่าง ไทย ลาว เวียดนาม จีน ดังนี้
ไทย | สปป.ลาว | เวียดนาม (ฮานอย) | จีน | |
R8 (บึงกาฬ) | ปากซัน | นาพาว เกาแจว วินห์ ฮานอย | สถานีรถไฟ Dong Dang (สินค้าผักผลไม้) / สถานีรถไฟ Yên Viên (สินค้าทั่วไป) | ด่านรถไฟผิงเสียง |
R9 (มุกดาหาร) | สะหวันนะเขต | ลาวบ๋าว ฮาดิน ถั่นหวา ฮานอย | สถานีรถไฟ Dong Dang (สินค้าผักผลไม้) / สถานีรถไฟ Yên Viên (สินค้าทั่วไป) | ด่านรถไฟผิงเสียง |
R12 (นครพนม) | คำม่วน | นาพาว จาลอ วินห์ ฮานอย | สถานีรถไฟ Dong Dang (สินค้าผักผลไม้) / สถานีรถไฟ Yên Viên (สินค้าทั่วไป) | ด่านรถไฟผิงเสียง |
สินค้าผักผลไม้ รถบรรทุกสินค้าลำเลียงสินค้าออกจากภาคอีสานทางถนน R8 (บึงกาฬ) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย มุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ซึ่งใช้เวลาวิ่งเพียง 1 ชั่วโมง
สินค้าทั่วไปสามารถลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟที่สถานีรถไฟ Yên Viên ในกรุงฮานอย
หลังจากตู้สินค้าลำเลียงเข้ามาถึงด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ก็สามารถใช้โครงข่ายทางรถไฟของจีนลำเลียงผลไม้ไปยังหัวเมืองสำคัญ อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ (ใช้เวลา 45 ชั่วโมง) กรุงปักกิ่ง (ใช้เวลา 70 ชั่วโมง) หรือไปยังเอเชียกลางและยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) (ใช้เวลา 7-10 วัน ขณะที่ทางเรือใช้เวลา 1 เดือน)
*****************************
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย