ในปี 2023 นี้ ภาพรวมการส่งออกของไทยไม่ค่อยเติบโตอย่างที่คาดหวังนัก มิหนำซ้ำยังต้องเจอกับความท้าทายจากเหตุความไม่สงบในทะเลแดงและช่องแคบ Bab al-Mandab เมื่อมีการโจมตีเรือสินค้าหลายครั้งโดยกลุ่มติดอาวุธฮูตี ตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ส่งผลให้สายเรือจำต้องระงับให้บริการในเส้นทางเพื่อความปลอดภัย ต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางของเรือกว่า 100 ลำ ต้องเสียเวลาเพิ่มประมาณ 10-15 วัน และแน่นอนว่าผู้ส่งออกเองก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 USD ต่อตู้ 40’ รวมไปถึง Surcharges จากการประกันภัยหรือค่าเสี่ยงภัยสงคราม
โดยสำหรับเหตุการณ์ในปัจจุบัน สามารถมองภาพรวมได้เป็นสองมุม
สำหรับภาพรวมในมุมเชิงลบ เมื่อ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการโจมตีเรือน้ำมันลำหนึ่งนอกชายฝั่งปากีสถาน บริเวณ Arabian Sea ระหว่างการขนส่งไปยังปลายทางที่อินเดีย (เชื่อว่ากระทำโดยอิหร่าน) ซึ่งถือเป็นการโจมตีนอกช่องแคบ Bab al-Mandab เป็นครั้งแรกนับแต่การโจมตีของกลุ่มฮูตีในเดือนพฤศจิกายน ทำให้อินเดียต้องมีการเคลื่อนไหวทางทหารในพื้นที่ เป็นเหตุให้ความตึงเครียดส่อบานปลาย – ลุกลาม มายังพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ และในมุมของผู้ส่งออก ต้องเผชิญกับต้นทุนและค่าระวางยังที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับจีนใกล้เข้าสู่ช่วง High Season จึงมีแนวโน้มการดึงตู้เปล่าจากทั่วโลกเข้าไปยังประเทศจีน และเสนอค่าระวางในอัตราสูง เป็นเหตุซ้ำซ้อนทับถมกันที่น่ากังวลไม่น้อย
ส่วนในเชิงบวก พูดได้ว่า การที่มีภัยคุกคามในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการขนส่งระหว่างประเทศ ย่อมมีผู้เดือดร้อนไม่น้อย โดยมีการจัดตั้งกองกำลังทางทหารที่ใช้ชื่อว่า Operation Prosperity Guardian ขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองการเดินเรือพาณิชย์โดยเฉพาะ นำโดยสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรอื่นๆ ที่คาดได้ว่าน่าจะมีชาติสมาชิกเข้าร่วมมากขึ้นในภายหลัง
จากจุดนี้เอง ทำให้สายเรือมีความมั่นใจในระดับหนึ่ง และประกาศจะพิจารณากลับมาเดินเรือในเส้นทางอีกครั้ง
และในเมื่อเครื่องยนต์หลักของประเทศอย่างการส่งออก สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบ ภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์จึงได้มีการจัดประชุมอย่างเร่งด่วน เพื่อหารือผลกระทบ และแนวทางบรรเทาแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ในวันที่ 21 ธันวาคม และเพื่ออัพเดทสถานการณ์และความต่อเนื่องอีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม ร่วมกับหน่วยงานสำคัญ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ (BSAA) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ส่งออก ได้ร้องขอให้มีการดำเนินการสำคัญ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.สำหรับสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่ง ขอให้สายเรือคงค่าระวางเท่าเดิมตามสัญญาการขนส่งที่ได้ตกลงไว้กับผู้ส่งสินค้า
2.สำหรับการจองระวางการขนส่งใหม่ ขอให้สายเรือเรียกเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ให้เป็นลักษณะทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได และให้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
3.ขอให้สายเรือเจรจากับท่าเรือเพื่อขอขยายระยะเวลา Free Time ในท่าเรือ เป็น 21 วัน (จากปกติ 3-7 วัน) เพื่อลดต้นทุนกองเก็บตู้ในท่าเรือส่วนที่เกินเวลาที่กำหนด และขยายระยะเวลาการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อลดต้นทุน Demurrage / Detention ให้กับผู้ส่งสินค้า เนื่องจากการเดินเรือที่มีระยะทางไกลมากขึ้น อาจเกิดปัญหาการล่าช้าของเรือในท่าเรือถ่ายลำ และผู้ส่งสินค้าจำเป็นต้องเพิ่มระยะเวลาสำหรับการจัดหาบริการขนส่งทางเลือกเพื่อส่งสินค้าไปยังสถานที่ส่งมอบสินค้าเดิมหรือที่ใหม่
4.ขอให้สายเรือเพิ่มจำนวนเรือในเส้นทางเอเชีย-ยุโรปให้เพียงพอต่อปริมาณสินค้าและรักษาความถี่ในการให้บริการเท่าเดิม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างระวางเรือ ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ และสินค้าในตลาด ให้สินค้าสามารถส่งออกได้ตามกำหนด
5.ขอให้สายเรือแจ้งข้อมูลเส้นทางและระยะเวลาในการเดินเรือ ค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เป็นปัจจุบัน ให้ผู้ส่งสินค้าทราบ
ทั้งนี้ ถ้านับเฉพาะเหตุโจมตีเรือในช่องแคบ Bab al-Mandab ครั้งล่าสุด (19 ธันวาคม) จนถึง ณ ตอนนี้ (27 ธันวาคม) จะเห็นได้ว่า ไม่มีการโจมตีเรืออีกเลยมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ในกลุ่มผู้ให้บริการเองก็เริ่มให้บริการในเส้นทางเดิมแล้ว เรียกได้ว่าสถานการณ์ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกควรติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยความตึงเครียดในพื้นที่ยังมีอยู่ การต้องเสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มก็ยังมีอยู่ และอาจเกิดเหตุโจมตีเรืออีกครั้งเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งสามารถติดตามได้ทาง Weekly Report, Website หรือช่องทาง Social Media ของ TNSC รวมไปถึงการอัพเดทผลการหารือร่วมกับภาครัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง