อัพเดทสถานการณ์ทะเลแดง 24 มกราคม 2024
เปิดมาเดือนแรกของปี ดูเหมือนงานขนส่งทางทะเลปีนี้จะไม่ง่ายและราบลื่นดีนัก เมื่อต้องเผชิญกับหลายขวากหนามคอยทิ่มแทง ทั้งคลองปานามายังมีปัญหากับระดับน้ำ จีนก็เร่งส่งออกก่อนตรุษจีน และแน่นอนว่าวิกฤติทะเลแดงกับการโจมตีเรือสินค้าต่อเนื่องของกลุ่มติดอาวุธฮูตีที่ดูว่าจะไม่จบลงอย่างง่ายดายนัก
โดยตั้งแต่เริ่มมีการโจมตีระลอกแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 และมาโจมตีอีกระลอกตั้งแต่ในต้นเดือนมกราคม 2024 ผู้ให้บริการสายเรือต้องเลือกเดินเรืออ้อมไปครึ่งโลกเพื่อความปลอดภัย ผลักภาระค่าใช้จ่ายมาตกกับผู้ขนส่ง ส่งผลลุกลามต่อไปยังห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ณ ปัจจุบัน พบว่าค่าระวางจากจีนไปยุโรป สำหรับตู้ Container ขนาด 40 ฟุต พุ่งแตะที่หลัก 10,000+ เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ก่อนจะมีการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮูตี อยู่ที่ประมาณ 1,500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ซึ่งแม้ว่าอัตราค่าระวางออกจากบ้านเราไปยุโรปจะไม่ได้ราคาแรงเท่า โดย Spot Rate ใน Weekly Report ของ TNSC ค่าระวางไปยุโรปของตู้ขนาด 40 ฟุต อยู่เพียงแค่ราว 4,900 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการใช้บริการจริง) ทำให้ต้นทุนของเราได้เปรียบกว่า แต่ก็สามารถมองได้อีกมุมคือ ณ ตอนนี้ จีนกำลังเร่งเครื่องส่งออกอย่างเต็มที่ก่อนจะถึงตรุษจีน อันเป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นทุกๆปี และแน่นอนว่า “เขาพร้อมจ่าย” และสุดท้ายก็จะกลายเป็นกลไกตลาด ดึงอุปทานจากผู้ให้บริการเอาตู้ Container ไปกองที่จีนและผลักอัตราค่าระวางในตลาดให้สูงขึ้นไปอีก
พื้นที่ระวางเริ่มขาดแคลน
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นกังวลกันมากในหมู่คนทำงานขนส่งทางทะเลคือการ “ขาดแคลนตู้” จะกลับมาสร้างหายนะเหมือนกับช่วงโควิด ซึ่งปัจจุบันเริ่มพบการขาดแคลนตู้บ้างแล้วในเอเชียใต้ โดยเฉพาะ Shipment สำหรับอินเดียไปยุโรป ที่เริ่มขาดแคลนหนัก
แต่สำหรับในภาพรวมทั่วโลก สิ่งที่พบจริงๆแล้ว กลับเป็นการ “ขาดแคลนเรือ” หรือพื้นที่ระวางมากกว่า จากเหตุวิกฤติทะเลแดงและเรือต้องเดินไกลขึ้น 31% ใช้เวลาเดินทางนานขึ้น 20-30 วัน ประกอบกับในช่วงตรุษจีน กลุ่มผู้ให้บริการจะลดขนาดกองเรือในเส้นทาง เอเชีย-ยุโรป ไปอีกราว 10% โดยเฉลี่ย
เวียดนามและเกาหลีใต้ก็เริ่มได้ผลกระทบ โดยในกลุ่ม SMEs ที่ปริมาณตู้ส่งออกไม่มากนักเริ่มหาพื้นที่ระวางได้ยาก ไปจนถึงการถูก Port Skipped หรือการยกเลิกเรือเข้าท่าต่อเนื่องหลายสัปดาห์ จึงเป็นจุดเริ่มของการมีการขนส่งด้วยโหมดอื่นมากขึ้น โดยเวียดนามหันไปขนส่งทางอากาศไปยุโรปมากขึ้น 62% ใน Week 2 ของปีนี้ (สัปดาห์เดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 16%) และการขนส่งทางรถไฟจากเอเชียไปยุโรปเพิ่มขึ้น 68%
การปล่อย CO2 พุ่งทะยาน
การเปลี่ยนโหมดการขนส่งย่อมส่งผลต่อการปล่อย CO2 ที่เพิ่มขึ้น และแน่นอนว่าทางอากาศหนักที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก ICAO และ SeaRoutes พบว่าการขนส่งทางอากาศจากตะวันออกกลางไปอเมริกา มีการปล่อย CO2 ทั้งหมด เพิ่มขึ้น 6,386.3% หรือราว 64 เท่าเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือผ่านคลองสุเอซ
สำหรับเรือ การเดินทางไกลขึ้น การปล่อย CO2 ก็ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจากเอเชียไปยุโรปเหนือ ลำพังเพียงแค่ “การเดินเรือ” อ้อมไปอีกซีกโลก ก็ปล่อย CO2 มากกว่าการเดินเรือผ่านคลองสุเอซมากขึ้นคิดเป็น 27% ต่อ TEU ซึ่งถ้าหากนับกิจกรรมอื่นๆเข้าไปด้วย ทั้งการยกขึ้นลงของตู้ การจอดคอยของเรือ ความเร็วและขนาดของเรือ มีการประเมินว่าตัวเลขสูงถึงประมาณ 435% ต่อ TEU เลยทีเดียว และจากเอเชียไปยุโรปเหนือจะอยู่ที่ประมาณ 575% ต่อ TEU
ซึ่งสำหรับในทางเรือ เหตุการณ์นี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ Alternative Fuels หรือพลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น LNG หรือ Methanol แต่สุดท้ายแล้วก็ยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุนและเทคโนโลยี ประกอบกับยังไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มสายเรือขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ที่ไม่ได้มีต้นทุนในการจัดหาเรือสมัยใหม่ที่ใช้พลังงานสะอาดมาให้บริการ
แขวนอยู่บนเส้นด้ายทางการเมือง
เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่แตกต่างจากตอนโควิดอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้พูดได้ว่าทุกๆอย่างอยู่บนปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งก็ยังไม่มีความแน่นอน
อังกฤษกับสหรัฐอเมริกาเปิดฉากโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธฮูตีในพื้นที่ตะวันตกของเยเมนแล้ว แต่ก็ยังหยุดการโจมตีเรือสินค้าไม่ได้ จีนก็ส่งเรือที่อ้างว่าเป็น “เรือวิจัย” ไปในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและอินเดียสูงขึ้นไปอีก
ในตอนนี้แม้แต่ในกลุ่มผู้ให้บริการเองก็ต้องคอยติดตามสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยในมุมมองของหลายสื่อต่างประเทศต่อสถานการณ์แบบนี้ “ไม่มีใครได้ประโยชน์” เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และต่างก็อยากให้จบลงโดยเร็ว
สำหรับผู้ส่งออกไทย TNSC แนะนำให้คอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในระดับวันต่อวัน โดยเฉพาะหากมีการส่งออกไปยุโรป อเมริกา หรือตะวันออกกลาง ซึ่งสามารถติดตามผ่าน TNSC ได้ทั้ง Website และตามช่องทาง Social Media ต่างๆ