EUDR คืออะไร?
EU Deforestation-free Regulation (กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า) เป็นมาตรการที่สหภาพยุโรปได้นำเสนอเพื่อต่อสู้กับปัญหาการล่าสัตว์ป่าและการล้างป่า โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อประเทศสมาชิกทั่วโลก มาตรการนี้จะสร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นปราศจากการกระทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของป่าไม้ โดยมีการควบคุมเพื่อติดตามทราบถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ป่าไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากป่าไม้ และเสนอแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมในกรณีที่พบการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย มีการพิจารณาวิธีการรักษาป่าที่ยั่งยืนและการพัฒนาระบบการอนุรักษ์ป่าในประเทศที่มีปัญหาการทำลายพื้นที่ป่าไม้
ทำไมถึงต้อง EUDR ?
โดยทั่วไปแล้วมาตรการนี้มุ่งเน้นในการช่วยให้สถานการณ์ป่าไม้ในโลกมีความยั่งยืนขึ้นโดยไม่เพิ่มภาระในการปรับตัวของผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปและนอกสหภาพยุโรป ทั้งนี้มาตรการนี้ยังช่วยสร้างความโปร่งใสในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการบริหารจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนโดยมีประสิทธิภาพและรับรองได้
EUDR ครอบคลุมสินค้าอะไรบ้าง?
โดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 รายการของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ อาทิ ยางรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ เครื่องหนังสัตว์ โดยกำหนดให้สินค้าที่เข้าและออกจากสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญทั้ง 3 ข้อ
1) ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า โดยสินค้าต้องไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
2) กระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ อาทิ กฎหมายที่ดิน แรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และภาษี
3) ได้รับการตรวจสอบและประเมินสินค้า อาทิ การเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ พิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) วันที่และระยะเวลาการผลิต หลักฐานที่แสดงว่าสินค้าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า
EUDR เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อไหร?
กฎหมาย EUDR มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา แต่สหภาพยุโรปได้กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอีก 18 เดือน จนกว่าจะเริ่มนำกฎหมายมาสู่การปฏิบัติ สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ (Large operators and traders) ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และให้เวลาปรับตัวเพิ่มเป็น 2 ปี ก่อนจะนำมาใช้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกรายย่อย ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568
แนวทางความคืบหน้าของ การยางแห่งประเทศไทย (Thai Rubber Trade Platform)
การยางแห่งประเทศไทย ได้มีการดำเนินการประชุมหารือร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เกี่ยวกับผลเบื้องต้นของการศึกษา รูปแบบข้อมูล แพลตฟอร์ม วิธีการตรวจสอบและการระบุตำแหน่งพื้นที่ปลูกยางพาราของเกษตรกรที่ลงทะเบียน ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ EUDR ต่อซัพพลายเชนสินค้าที่เกี่ยวข้องของไทย โดยการดำเนินการที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทยได้สะท้อนแนวทางความร่วมมือในทุกมิติร่วมกับทางสหภาพยุโรป เพื่อสนับสนุน ยกระดับการเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการ EUDR ให้กับภาครัฐและภาคเอกชนไทย รวมถึงการพัฒนารูปแบบเอกสารรับรอง การตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของอุตสาหกรรมยางพาราของไทย
ล่าสุด การยางแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการพัฒนา Thai Rubber Trade Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระบบทะเบียนสมาชิกผู้ขายกับทะเบียนเกษตรกรสวนยางให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังพื้นที่สวนยางที่เป็นแหล่งผลิตที่ถูกต้องและไม่เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และสามารถระบุ Geolocation ได้ถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อรองรับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (EUDR) ปัจจุบันมีเกษตรกรลงทะเบียนแล้วกว่า 19.8 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นเกษตรกร 1.4 ล้านราย สถาบัน 1,100 สถาบัน และผู้ประกอบการ 533 ราย โดยการยางแห่งประเทศไทยมีระบบเชื่อมโยงตลาดกลาง 8 แห่งใน 7 จังหวัด และมีตลาดเครือข่ายกว่า 500 สาขา ทั่วประเทศ
โดยชาวสวนยางมีการขึ้นทะเบียนข้อมูลร่วมกับเลขประจำตัวประชาชน เลขพิกัดแผนที่ Latitude (ละติจูด) Longitude (ลองจิจูด) ขนาดพื้นที่ ชนิดของยาง สายพันธุ์ จากนั้นการยางแห่งประเทศไทยดำเนินการตรวจสอบร่วมกับกรมป่าไม้ และ Global Forest Watch ว่าพื้นที่สวนยางทับซ้อนกับพื้นที่ป่าหรือไม่ และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) การยางแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัทยางล้อผ่านระบบ Rubber Way
ในตัวกฎหมาย EUDR จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 31 ธันวาคม 2567 แต่รูปแบบ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ยังไม่มีความชัดเจน การยางแห่งประเทศไทยจึงเสนอให้ EU ใช้รูปแบบเอกสาร (Form) ของประเทศไทยเป็นโครงร่าง (Role model) ในการดำเนินการและปรับเพิ่มเติมในภายหลัง
และเนื่องจากกฎระเบียบดังกล่าว กำหนดกฏเกณฑ์ของการส่งออกและนำเข้าสินค้าถึง 7 รายการ แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกลาง (Focal Point) ในการดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งหน่วยงานที่อาจเกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าว อาทิ กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญและเกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าวที่ต้องคอยเป็นหน่วยงานประสานงาน เตรียมตัว เตรียมความพร้อม ให้ความรู้และดำเนินการร่วมกับสหภาพยุโรป และเป็นหน่วยงานกลางในการกำกับดูแล เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมาย EUDR ในส่วนของการส่งออกสินค้าทั้ง 7 รายการและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบและมีความชัดเจนในทางปฏิบัติลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ดังนั้น TNSC จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการประสานอัพเดทเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญให้แก่สมาชิกที่เกี่ยวข้องกับ 7 รายการสินค้า รวมถึงเป็นหน่วยงานกลางที่ช่วยผลักดันให้มีหน่วยงาน Focal point ในเรื่องนี้และพร้อมทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินการสำหรับกฎหมาย EUDR ต่อไป
และที่สำคัญ ในความเป็นจริงแล้วการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปมีมาตรการสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ยังมีมาตราการอื่นๆอีกนอกเหนือจากกฎหมาย EUDR ผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมความพร้อมร่วมกับคู่ค้าในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ศึกษาแนวทางการดำเนินการ ปรับตัวร่วมกันในเบื้องต้นเพื่อเตรียมรับมือ และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
โดย TNSC จะอัพเดทข่าวสารข้อมูลให้สมาชิกและผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งติดตามได้ผ่านทาง เว็ปไซต์ TNSC.com และผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ
This post is a fantastic resource—thank you for sharing your knowledge!