“ส่งออกไทยแข่งขันยาก ค่าระวางแพงกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งต้นตอการเสียเปรียบนี้ มีที่มาจากกฎหมายเพียงไม่กี่บรรทัด”
ประเด็นไฮไลท์สำคัญส่วนหนึ่งจากเวที STO Key Policy Driving Forum 2024 โดยสำนักงาน ปยป. เมื่อวานที่ผ่านมา (20 สิงหาคม 2567) ในหัวข้อด้าน Transshipment ของประเทศไทย
สำหรับคนในวงการนำเข้าส่งออก เราต่างรู้กันเป็นอย่างดีว่าตู้สินค้า Container ที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตก ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ ส่วนมากแล้วจะไป “ถ่ายลำ” ที่สิงคโปร
ซึ่งมีเหตุสำคัญมาจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ด้วยที่ประเทศไทยเราไม่ได้อยู่ในเส้นทางการค้าทางทะเลสำคัญ อีกทั้งปริมาณสินค้าต่อปีก็ไม่ได้มากพอจะดึงดูดผู้ให้บริการหรือสายเรือ เพราะฉะนั้นในการขนส่งสินค้าทางทะเลของบ้านเราจึงมีลักษณะเหมือน “อยู่ท้ายซอย” ที่จะนำเข้าส่งออกสินค้าจากไหนก็ต้องไปพึ่งพา “ปากซอย” อย่างสิงคโปรในการขนถ่ายสินค้า
แน่นอนว่าสิงคโปรไม่ใช่ประเทศที่เป็นแหล่งผลิต รายได้ส่วนมากมาจากการค้าขาย การแปรรูปสินค้า และการลงทุน แต่ประเทศอื่นอย่างมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น กลุ่มประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเทศผลิตและส่งออกที่ถือได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย และยังอยู่ในเส้นทางเดินเรือสำคัญ ทำให้ประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการขนส่งสินค้าต่ำกว่าไทยเรามาก ด้วยทั้งมีเรือแม่ (Mother Vessel) ขนาดใหญ่ถึง 20,000-24,000 ตู้ต่อลำให้บริการเป็นกิจลักษณะ ขณะที่ไทยเป็นมักจะเรือ Feeder หรือเรือแม่ขนาดรองๆลงมา
นี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ส่งออกไทยเราแข่งขันยาก และในระยะยาวยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการเลือกแหล่งลงทุนอีกด้วย ดังนั้นหากท่าเรืออันดับหนึ่งของประเทศไทยอย่างท่าเรือแหลมฉบังสามารถทำ Transshipment ได้ ก็จะเป็นคำตอบที่ช่วยดึงดูดเรือแม่ขนาดใหญ่ขึ้น และมีจำนวนเข้ามาเยอะขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปยังต้นทุนการนำเข้าตู้เปล่าที่ลดลง ต้นทุนโลจิสติกส์ที่ถูกลง
คำถามคือ แล้วทำไมเราไม่ทำ ?
คำตอบคือ จริงๆเราเคยทำแล้ว ซึ่งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนผู้ส่งออก เราได้พยายามทำและผลักดันภาครัฐผ่านเวทีการพูดคุยต่างๆ แต่ติดข้อกฎหมายทั้งในรูปแบบ พ.ร.บ. ทั้ง พ.ร.ก. รวมๆแล้วกว่า 17 ฉบับ ซึ่งกฎหมายแต่ละตัวก็มีผู้รับผิดชอบในแต่ละหน่วยงาน เช่น กฎหมายเรื่องพันธ์พืช ก็มีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ หรือกฎหมายการนำเข้าส่งออก ก็มีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นต้น
แน่นอนว่ากฎหมายใดๆนั้นต้องเป็นที่เคารพ แต่ถ้ากฎหมายนั้นเกิดไม่สมเหตุสมผลขึ้นมาล่ะ ?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อยามที่กฎหมายใดๆนั้น ถูกสร้างขึ้นในเวลานั้น เหมาะสมและสมเหตุผลในเวลานั้น แต่เมื่อเวลาผานไป บริบทเปลี่ยนไป สังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป ความเหมาะสมของกฎหมายนั้นย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทว่าตัวกฎหมายเสียเอง ที่ยังคงอยู่อย่างนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ซ้ำยังกลายเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ รวมถึงการพยายามผลักดันให้ไทยเป็น Transshipment ด้วย เพราะงั้นเมื่อยามจำเป็น กฎหมายนั้นย่อมต้องถูกแก้ไข ทว่าการแก้กฎหมายเองก็เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา
แต่โชคดีที่เราไม่ได้โดดเดี่ยว โดยในปัจจุบัน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจคณะที่ 3 อันเป็นคณะฯที่ตั้งมาเพื่อแก้ข้อกฎหมาย Transshipment โดยเฉพาะ (รวมถึง MICE ด้วย) ร่วมกับหน่วยงานสำคัญอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และยังได้ ศ.พิเศษ วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ เป็นหัวหอกในการศึกษาและแก้ไขกฎหมาย
หนึ่งในใจความสำคัญคือการแก้นิยามใหม่ถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า ถ่ายลำ ผ่านแดน และนำผ่าน โดยเฉพาะคำหลังสุดที่มีการศึกษาและพบว่าไม่มีคำคำนี้ในภาษาสากลด้วยซ้ำ เป็นเพียงแค่คำที่กฎหมายไทยตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมเสียเอง ซึ่งเป็นไปในลักษณะคล้ายๆกันกับกฎหมายทั้ง 17 ฉบับ คือบ้านเราพยายามให้มีการกำกับดูแลเข้มงวดเกินไป เกินกว่าแนวทางปฏิบัติในประเทศอื่นๆ หรือเกินกว่ากำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศใดๆก็ตาม
ในทุกวันนี้เราจึงเห็นได้อยู่ว่า ส่งออกไทยแข่งขันยาก ค่าระวางแพงกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งต้นตอการเสียเปรียบนี้ มีที่มาจากกฎหมายเพียงไม่กี่บรรทัด เราต้องอาศัยการผลักดันต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมตามกระบวนการไปจนกว่าเรื่องนี้จะสิ้นสุดตรงที่การพิจารณาอนุมัติแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นโดยคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ประเทศไทยเราสามารถเป็นแหล่ง Transshipment ได้ ซึ่งเคยมีการอนุมานไว้โดยคร่าวว่าจะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมทั้งประเทศได้ถึงหลัก “พันล้านบาทต่อปี” หากว่าท่าเรือแหลมฉบังสามารถทำ Transshipment ได้แบบท่าเรือสากลอื่นๆ
ที่เหลือก็ต้องฝากเป็นการบ้านของภาครัฐต่อไป ในการรับมือกับการพัฒนาโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางทะเล อย่างเช่นการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การแก้ปัญหาความแออัดในท่าเรือแหลมฉบัง และที่สำคัญก็คือการเร่งก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง Phase 3 ให้แล้วเสร็จ เพื่อรองรับปริมาณและขนาดเรือในอนาคต
รับฟังย้อนหลังแบบเต็ม : บันทึกการเสวนา STO Key Policy Driving Forum 2024 : Soft Power, MICE & Transshipment การปฏิรูปกฎหมายและมาตรการเพื่อลดข้อจำกัดในการ นำสินค้าเข้า – ออกเพื่อการแสดงสินค้าและนิทรรศการ (MICE) และการเปิดตรวจ สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) https://www.facebook.com/share/v/RPAEfAtKhfxgXvHy/