นับวันเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ยิ่งพัฒนาไปไกลเรื่อยๆ อย่างนึงที่ชัดเจนมากคือในเรื่องโหมดการขนส่งที่ในปัจจุบันได้มีการขนส่งด้วย “โดรน” อันนับเป็นโหมดการขนส่งรูปแบบใหม่ที่เริ่มมีใช้บ้างแล้วในหลายๆประเทศ และเป็นที่คาดหวังว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับวงการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในอนาคต
ทว่าหนึ่งในข้อด้อยสำคัญของการขนส่งด้วยโดรนคือน้ำหนัก ด้วยยิ่งสินค้ามีน้ำหนักมากต้นทุนในการผลิตและการปฏิบัติการของโดรนก็จะยิ่งสูง การขนส่งด้วยโหมดนี้จึงมักนิยมใช้ในการขนส่งวัตถุหรือสินค้าขนาดเล็ก อย่างการใช้ในการขนส่งไปรษณีย์หรือสินค้า e-Commerce เสียมากกว่า
แต่ไม่ใช่สำหรับเจ้าโดรนตัวนี้
Ørsted บริษัทด้านพลังงานชั้นนำสัญชาติเดนมาร์ก ได้พัฒนาโดรนสมรรถนะสูง หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า Heavy-Lift Cargo Drones (HLCD) เป็นตัวแรกของโลก ซึ่งสามารถขนย้ายสินค้าน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 100 กิโลกรัม ที่ถือว่ามีศักยภาพในการยกน้ำหนักเหนือมนุษย์ไปแล้ว หากอ้างอิงจากกฏหมายแรงงานไทยที่กำหนดให้แรงงานเพศชายยกของหนักได้ไม่เกิน 55 กิโลกรัม
ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาเจ้าโดรนตัวนี้ คือสำหรับการปฎิบัติหน้าที่ขนส่งวัสดุอุปกรณ์จากเรือซัพพลายไปยังกังหันลมจำนวน 94 ตัวที่ติดตั้งอยู่กลางทะเลเหนือ ในฟาร์มกังหมลมนอกชายฝั่ง Borssele 1&2 บริเวณนอกชายฝั่งเบลเยียมไปทางเหนือประมาณ 13 ไมล์ทะเลหรือราว 24 กิโลเมตร
ศักยภาพของเจ้าโดรนตัวนี้ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำหนักเท่านั้น ในแง่ของความคุ้มค่าการใช้เจ้าโดรนตัวนี้ยังช่วยให้บริษัทพลังงานเดนมาร์กแห่งนี้ลดความเสี่ยงภัยลงและประหยัดเวลาไปได้มาก กล่าวคือ จากเดิมที่การซ่อมบำรุงกังหันลมแต่ละต้น จะต้องอาศัยเรือเทียบเข้ากับตัวแท่นของกังหันลมและใช้เครนยกวัสดุอุปกรณ์ไปติดตั้ง ณ บริเวณแกนหมุนของกังหัน ซึ่งต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากทั้งคลื่นและลม แถมยังต้องทำแบบนี้ไปทีละครั้งจนครบทั้ง 94 ต้น แต่การใช้เจ้าโดรนตัวใหม่นี้จะสามารถขนส่งวัสดุอุปกรณ์จากดาดฟ้าเรือซัพพลาย ไปถึงแกนหมุนของกังหันลมแต่ละต้นได้เลย ซึ่งลดเวลาปฎิบัติการไปได้ถึง 10-15 เท่า
และที่สำคัญคือสามารถลดต้นทุนและลดการปล่อยคาร์บอนได้อีกด้วย !
ทังนี้ สำหรับบริษัท Ørsted ถึงแม้จะมีรายได้หลักมาจากอุตสาหกรรมพลังงาน แต่ด้วยศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรม ทำให้มีประวัติหลากหลายครั้งที่มีการแตกผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจแขนงอื่นๆออกมาจากผลประดิษฐ์ทางวิศวกรรมของบริษัทเอง ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงว่าบริษัทเดนมาร์กเจ้านี้จะกระโดดมาร่วมเล่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ด้วย ซึ่งคงจะน่าสนใจไม่ใช่น้อยๆ
เพราะนี่อาจเป็นจุดพลิกผันที่จะเปลี่ยนวงการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนไปตลอดกาล จากมุมมองของเราที่ว่าโดรนมักจะมากับ “ของชิ้นเล็กๆ” เท่านั้น โดยเฉพาะหากลองจินตนาการดูว่า ในอดีตมนุษย์ได้ประดิษฐ์เครื่องบินสำเร็จและได้เปลี่ยนโฉมโลกมาแล้ว ส่วนในวันนี้โดรนก็สามารถให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้หลักร้อยกิโลกรัม และถ้าหากอนาคตสามารถพัฒนาเพิ่่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของโดรน จนมีสามารถปฎิบัติการเชิงพาณิชย์ที่น้ำหนักสูงระดับเป็นสิบๆตันแล้วล่ะก็
เราอาจจะได้เห็น “การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ด้วยโดรน” ก็เป็นได้
คงจะแก้ปัญหาท่าเรือแออัดที่บางท่าได้ดีเลยทีเดียว