Trump ชนะเลือกตั้ง มีผลอย่างไรต่อการส่งออกไทยและการขนส่งสินค้าทางทะเล
“ผมจะไม่พักจนกว่าเรามอบอเมริกาที่เข้มแข็ง ปลอดภัย และเจริญรุ่งเรืองตามที่ลูกหลานของเราและคุณสมควรได้รับ”
Donald Trump กล่าวหลังจากการพรรครีพับลิกันคว้าชัยชนะในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา2024 ซึ่งสื่อคาดการณ์ว่าเขาสามารถเอาชนะ Kamala Harris จากพรรคเดโมแครตได้ อันจะเป็นการเปิดฉากการกลับมาทางการเมืองอีกครั้งของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งหลังจากนี้หาก Trump ดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ครบถ้วน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการส่งออกไทยและการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยบทความจะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ
(ในบทความนี้มีข้อวิเคราะห์ ความเห็น การคาดคะเนและการอนุมาน โปรดใช้วิจารณญานในการอ่าน)
การส่งออกไทย
1. มาดูที่นโยบายบางส่วนของ Trump อย่างเรื่องภาษี ซึ่งเสนอให้มีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทุกชนิดอย่างต่ำ 10% ส่วนมวยคู่เอกอย่างจีนเสนอให้มีการเก็บภาษีไม่ต่ำกว่า 60% ณ จุดนี้มองได้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียต่อการส่งออกไทย
2. สำหรับข้อเสีย เพราะด้วยสหรัฐอเมริกาเองก็เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญของไทย มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ของไทยมีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 หรือประมาณ 17.9 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งมีแนวโน้มจะหดตัวสูงมากหากต้องเจอภาษีในสินค้าทุกชนิดที่ 10 %
3. การส่งออกไปสหรัฐฯ มีสินค้าสำคัญเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งขยายตัวถึง 18.1 % ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
4. สำหรับข้อดี หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นโอกาสดีในการเพิ่มการลงทุนภายในประเทศ จากการหลีกเลี่ยงภาษีของจีนด้วยวิธีการ “เปลี่ยนแหล่งกำเนิดสินค้า” อาจมีการไหลเวียนสินค้าผ่านประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงการตั้งโรงงานผลิตสินค้าภายในประเทศไทยด้วย
5. แต่จุดนี้ก็มองเป็นดาบสองคมได้เช่นเดียวกัน เพราะการที่จีนต้องการหาเป้าหมายในการเปลี่ยนแหล่งกำเนิดสินค้า อาจไม่ได้เป็นผลดีมากนักกับมูลค่าการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของไทย โดยเฉพาะอาจทำให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายในการออกมาตรการตอบโต้ทางการค้าโดยสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น
6. ซ้ำร้ายยังอาจเป็นเสี้ยนหนามของผู้ประกอบการไทยในการผลิตและการค้าขายภายในประเทศ ทั้งจากการที่จีนสามารถผลิตและขายได้ราคาถูกกว่า รวมไปถึงสินค้าที่ Over-Production ต้องการหาตลาดในการระบายสินค้า และอาจจะเป็นการขายที่เรียกว่า “ขายทิ้ง” ก็จะยิ่งกระทบหนักเข้าไปอีก
การขนส่งสินค้าทางทะเล
1. อย่างที่รู้กันว่านโยบายหลายๆอย่างของ Trump เป็นไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับการค้าการลงทุนภายในประเทศ และเน้นกีดกันทางการค้ากับคู่ชกอย่างจีน เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลที่จะเห็นผลชัดเจนอย่างแรกคือ “เส้นทางเดินเรือ”
2. ปัจจุบันเส้นทาง Trans-Pacific หรือเส้นทางระหว่างชายฝั่งตะวันของทวีปอเมริกาเหนือ (แคนาดา, อเมริกา, เม็กซิโก) – เอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) มีเรือ Container วิ่งผ่านเส้นทางนี้อยู่ที่ประมาณ 25 % หรือราว 1 ใน 4 ของการเดินเรือ Container ทั่วโลก
3. แน่นอนว่าคู่ค้าหลักในเส้นทางคือคู่ชกสองยักษ์ใหญ่อย่าง จีน-สหรัฐอเมริกา ทว่าหากนโยบายสุดโต่งทั้งหลายของ Trump ถูกนำมาใช้ การค้ากับจีนจะชะงักลง สินค้าในเส้นทางจะลดลง ดังนั้นย่อมหมายถึงกองเรือ Container ในเส้นทางก็จะลดลงไปด้วย
4. คำถามคือ แล้วในระยะยาวเรือเหล่านั้นจะหายไปไหน จุดนี้มองได้เป็นสองกรณีคือ หนึ่ง เมื่อการค้าสองคู่ชกชะงักลง ทั้งคู่ก็ต้องไปหาตลาดใหม่ในการค้าขาย ดังนั้นก็จะมีสินค้าหมุนเวียนในตลาดใหม่ๆเหล่านั้นมากขึ้น กองเรือที่จะลดลงในเส้นทาง Trans-Pacific ก็จะมาให้บริการในเส้นทางเหล่านี้แทน
5. ส่วนกรณีที่สอง คือนโยบายของ Trump นอกจากจะต่อต้านจีนแล้ว ยังหันมาเน้นผลิตและใช้เองภายในประเทศด้วย และเมื่อหนึ่งในตลาดบริโภคเบอร์ต้นๆอย่างสหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากทุกท้องถิ่นทั่วโลก นั่นหมายความว่า การค้าขาย-การหมุนเวียนสินค้า-การขนส่งและโลจิสติกส์ ก็จะลดหลั่นตามลงไปด้วยเช่นกัน
6. ณ จุดนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่ เริ่มจากเส้นทางเดินเรือ และนำไปสู่ผลกระทบสองอย่างหลักๆ อย่างแรกคือเรื่องของความแออัดในท่าเรือ ด้วยการค้าขายที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้เกิดความแออัดในบางท่าเรืออย่างไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่บางท่าเรือก็อาจจะกลายเป็นร้างไปเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก
อีกเรื่องคือ “ค่าระวางเรือ” ในอนาคตระยะยาวมีแนวโน้มสูงที่จะผันผวน จากการที่ “อุปทาน” (การขนส่ง ตู้สินค้า และกองเรือ) ไม่สมดุลกับ “อุปสงค์” (การขน การค้าขาย) ผู้ให้บริการหรือสายเรืออาจจะต้องทำ Blank Sailing เพื่อลด อุปทานให้น้อยลงตามปริมาณสินค้า
7. อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อค่าระวางเรือในโลกยุคใหม่คือ “การเมืองระหว่างประเทศ” อย่างที่เราเห็นมาก่อนหน้าจากวิกฤติทะเลแดง หรือสงครามการค้าก่อนหน้าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
8. เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ การสู้รบของยูเครน-รัสเซีย ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่จบลง แต่ในผลกระทบต่อ “เส้นทางการเดินเรือ” ถือว่าไม่มีอะไรให้กังวลมากนัก (ถ้าไม่บานปลายไปมากกว่านี้) เพราะสองประเทศรบกันภายในทะเลดำ ซึ่งเป็นทะเลปิดและไม่ได้อยู่ในเส้นทางการเดินเรือสำคัญ
9. ที่น่ากังวลจริงๆคือการสู้รบของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จนไปถึงการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยปัจจุบันก็ยังมีการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงอยู่ ยังต้องมีการเดินเรืออ้อมแอฟริกาใต้อยู่ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังมีอิทธิพลต่อค่าระวางอยู่
10. โดย Trump เองก็มีนโยบายในการหนุนอิสราเอลให้มีการสู้รบต่อไป นั่นหมายความว่าการโจมตีเรือสินค้าของกลุ่มติดอาวุธฮูตีในทะเลแดงก็จะยังคงมีอยู่เช่นกัน ทำให้สื่อต่างประเทศหลายเจ้าก็มองตรงกันว่าสถานการณ์น่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน อย่างน้อยๆก็คงไม่ได้จบลงภายในปีปฏิทินนี้ แม้ว่าการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นในมกราคม 2025 ก็ตาม
11. อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ส่งออกไทยกังวล คือเรื่องของการ Strike ของแรงงานท่าเรือชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ฯ ที่ความจริงแล้วปัญหายังไม่ได้จบลงแต่อย่างใด
12. ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ILA หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ สหภาพกลุ่มแรงงานชายฝั่งตะวันออกสหรัฐฯ ที่เป็นตัวแทนสหภาพแรงงานในท่าเรือนานาชาติกว่า 85,000 คน ได้ทำการ Strike หรือประท้วงหยุดงาน เหตุจากสัญญาแรงงานเดิมได้หมดอายุลงไป และไม่พอใจสัญญาใหม่ที่นายจ้างจะให้ และเรียกร้องค่าจ้างและโบนัสที่เรียกได้ว่าสุดโต่งมากๆ
อ่านข่าวสถานการณ์ของวันที่ 30 กันยายน 2567 ได้ที่ https://bit.ly/4gCPLx4
13. ณ ปัจจุบัน กลุ่มแรงงานกลับมาทำงานตามปกติหลังจากประท้วงหยุดงานในช่วงสั้นๆ ภายใต้สัญญาชั่วคราว3เดือน(ด้วยการขยายสัญญาหลัก) และจะมีการเจรจาสัญญาใหม่ในระหว่างช่วงเวลานี้
14. ณ ตรงนี้ ถือว่าเป็นการเดินหมากที่ฉลาดมากของรัฐบาลของไบเดน ในการมอบสัญญาชั่วคราว 3 เดือน เพราะถ้าหากปฎิเสธคำเรียกร้องของกลุ่มสหภาพ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง แถมยังเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งที่สุ่มเสี่ยงจะเสียคะแนนเสียง หรือถ้าหากยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของกลุ่มสหภาพ ก็จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ภายในประเทศมีปัญหา และอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อ
15. ถึงแม้ว่าสัญญาชั่วคราวนี้จะหมดอายุลงในวันที่ 15 มกราคม 2025 ก่อนหน้าวันแต่งตั้งประธานาธิบดี 5 วัน (ประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคม 2025) แต่หากว่ามีการ Strike หรือประท้วงหยุดงานอีก บรรดาสื่อภายในประเทศมองว่าประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง Trump น่าจะมีความ “เด็ดขาด” ในการจัดการมากกว่าคนเก่าอย่างไบเดน อำนาจต่อรองจึงตกอยู่ที่ฝั่งของ “นายจ้าง” มากกว่ากลุ่มสหภาพแรงงาน และน่าจะเจรจากันได้โดยดี
16. แต่ไม่ใช่สำหรับในสายตาของ Shippers ภายในประเทศ ที่มองว่ายังก็สุ่มเสี่ยงจะมีการ Strike ครั้งถัดไปอยู่ดี และไม่น่าเจรจาได้ง่ายๆ โดยพบว่ามีการเร่งส่งมอบและนำเข้าสินค้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี รวมไปถึงการเตรียมตัวรับผลกระทบในระยะยาวด้วยการเปลี่ยนท่าเรือไปเป็นฝั่งตะวันตกแทน หรือแม้แต่การไปใช้ท่าเรือในแคนาดา หรืออาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ยังสองแง่สองง่าม และมีความไม่แน่นอนสูงมาก แม้แต่คนในประเทศเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปอย่างไร
สรุปแล้ว ผู้ส่งออกต้องทำอย่างไร ? หนึ่งในคำถามสำคัญจากความกังวลของผลกระทบ
การขึ้นสังเวียนของมวยคู่เอกอย่างจีน-สหรัฐอเมริกา ในเมื่อกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย สิ่งที่เราแนะนำคุณได้ดีที่สุดคือการติดตามข่าวและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองและนโยบายการค้าต่างประเทศของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นจุดชี้วัดสำคัญในการเป็นไปในโลกยุคใหม่หลังจากนี้ไป และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัว ทั้งตามนโยบายการค้า การเมืองระหว่างประเทศ และโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจคุณ