นับถอยหลัง 30 วัน ทรัมป์ขึ้นรับตำแหน่งสมัยที่สอง ส่งออกไทยจะเป็นอย่างไร
นับจากวันนี้อีกราว 30 วัน โดนัล ทรัมป์ จะขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการและมีอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบในวันที่ 20 มกราคม 2025 และด้วยการเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับต้นของโลก ย่อมมีผลกับหลายประเทศและหลายภาคส่วน รวมถึงการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งสหรัฐฯนับเป็นหนึ่งในตลาดหลักส่งออกที่สำคัญมาก โดยมีมูลค่าราวร้อยละ 17 จากการส่งออกทั้งหมดของบ้านเราในปี 2023 ที่ผ่านมา
ย้อนไปในอดีต ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัล ทรัมป์ สมัยแรก (ปี 2017 -2021) จะเห็นได้ว่า American First เป็นนโยบายหลักของทรัมป์ ได้แก่ การลดการขาดดุลการค้า การใช้มาตรการภาษีเพื่อปกป้องการผลิตในประเทศ การเจรจาต่อรองข้อตกลงการค้าใหม่ เพื่อให้ได้ข้อกำหนดที่เอื้อประโยชน์กับสหรัฐฯ มากที่สุด และใน ปี 2024 เราก็ยังได้เห็นอยู่ว่าทรัมป์ยังคงรักษาความมุ่งมั่นที่จะสานต่อนโยบาย American First อย่างเข้มงวด โดยคาดว่าจะดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ผ่าน 4 แนวทางหลัก ได้แก่
- มาตรการกำหนดการปกป้องภายในประเทศเป็นการชั่วคราว เช่น การเรียกเก็บภาษีใหม่ในอัตราร้อยละ 10-20 สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยสินค้าจากจีนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดด้วยอัตราภาษี 60% อีกทั้ง มีแนวโน้มจะทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี เพื่อให้ได้ข้อกำหนดที่เอื้อประโยชน์กับสหรัฐฯ มากที่สุด และ การลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 21 เหลือร้อยละ 15 เพื่อดึงดูดการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ จากการใช้มาตรการจูงใจทางด้านภาษี
- มาตรการจัดการกับการละเมิดข้อตกลงการค้า หรือการกระทำ นโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ
- มาตรการจัดการกับการละเมิดข้อตกลงการค้า หรือการกระทำ นโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
- การออกกฎหมายเพื่อยกเลิกหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง
ซึ่งนโยบายของทรัมป์มีแนวโน้มจะดำเนินอย่างเข้มงวดและเน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลักเช่นเดียวกับเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งในสมัยแรก อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งในด้านบวกและด้านลบ ดังนี้
ผลกระทบด้านบวก
- การลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น (FDI) : เนื่องจากนโยบายขึ้นภาษีสินค้าจากจีนร้อยละ 60 ย่อมส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และมีโอกาสที่จะย้ายฐานการผลิตมาไทยและอาเซียนมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์ เช่น กลุ่มยานยนต์ และ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
- การส่งออกเติบโตขึ้นในระยะสั้น : จากการที่สหรัฐฯทำสงครามการค้ากับจีน ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะนำเข้าสินค้าจากไทยบางรายการเพื่อทดแทนสินค้าจีน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ ถุงมือยาง และ น้ำผลไม้ เป็นต้น
ผลกระทบด้านลบ
- ความสามารถในการแข่งขันลดลง : จากสงครามการค้าของจีนกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจีนจะมีการระบายสินค้าออกมามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี อีกทั้ง จากการที่นายทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้น ยิ่งมีผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงมากกว่าเดิม
- ไทยเสียเปรียบทางการค้า : หากสหรัฐฯมีการทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับไทย อำนาจการต่อรองย่อมอยู่ที่สหรัฐฯ เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้น ไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดธุรกิจหรือสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ และอาจจะบีบให้ไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขการค้าที่เอื้อประโยชน์แก่สหรัฐมากขึ้น
ผลกระทบอื่น ๆ หากนโยบายชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- การส่งออกไทยชะลอตัว : จากนโยบายเรียกเก็บภาษีใหม่ในอัตราร้อยละ 10-20 รวมถึงการที่ทรัมป์มุ่งเน้นที่จะลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวโน้มว่าไทยอาจถูกใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯได้ โดยเฉพาะกลุ่มยางพารา อาหารทะเล เครื่องประดับ และ รถยนต์ เป็นต้น
- นักลงทุนถอนทุนกลับสหรัฐฯ : จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน เพื่อรอความแน่นอนของนโยบาย อีกทั้งมาตรการจูงใจทางด้านภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้นักลงทุนถอนทุนกลับสหรัฐฯ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สานต่อนโยบาย American First อย่างเข้มงวด อาจผลักดันให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย รวมทั้งไทย จำเป็นต้องปรับตัวทั้งในด้านการผลิต การส่งออก และการลงทุน เพื่อรับมือกับความผันผวนทางการค้าและข้อกำหนดที่เข้มงวดจากสหรัฐฯ ทำให้การปรับตัวของไทยจำเป็นต้องส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ และสินค้าสีเขียวต่าง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับตลาดสหรัฐฯ และตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบคล้ายกันจากนโยบายของทรัมป์ อีกทั้งการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นที่นอกเหนือจากสหรัฐฯ เช่น สหภาพยุโรปหรือประเทศในเอเชีย ก็เป็นวิธีหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า และลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ แม้นโยบายของทรัมป์อาจส่งผลเชิงลบต่อการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่หากไทยสามารถปรับกลยุทธ์ให้พร้อมรับมือ ก็มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิตและการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างตลาดโลกก็เป็นได้