คลองปานามานับเป็นน้อง คลองสุเอซนับเป็นพี่
เมื่อเอาสำนวนไทยมาเล่นคำตามนี้ก็น่าจะช่วยสื่อให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีสำหรับบทบาทต่อการเดินเรือและการค้าโลกของทั้งสองคลอง ซึ่งต่างมีความสำคัญในการขนส่งสินค้าทางทะเลทั้งคู่ เพียงแต่คลองสุเอซเปรียบดังเป็นผู้พี่ด้วยต้นกำเนิดที่มาก่อน ทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่า ปริมาณที่เรือมากกว่า รายได้ที่มากกว่า และมีบทบาทต่อการค้าโลกมากกว่า
และทั้งสองคลองก็ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญยิ่งของประเทศปานามาและประเทศอียิปต์
ทว่าช่วงสองถึงสามปีมานี้กลับเกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้เสือนอนกินทั้งสองต้องเริ่มระส่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยหลักแล้วคือด้านการเมืองระหว่างประเทศ และยังมีประเด็นหนักหน่วงอย่าง “น้ำ” และ “ไฟ” ที่ทำให้ทั้งสองประเทศอาจต้องเปลี่ยนมุมมอง ไม่อาจเป็นเสือนอนกินอาศัยแต่ในถ้ำอีกต่อไป
ในบทความนี้จะให้คุณได้เห็นถึงความสำคัญ บทบาท และมุมมองของทั้งสองคลอง ต่อการค้าโลกตลอดจนผู้ส่งออกไทย โดยแบ่งเป็น 2 EP, ความหมายโดยนัยของน้ำและไฟ พร้อมเจาะลึกครบทุกปัจจัยไล่แต่ อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต
The Water and the Fire of the Maritime Major Routes | EP1 – “น้ำ” : The Water of Panama Canal
1. อดีต
แรกกำเนิดของคลองปานามา เกิดขึ้นในช่วงปี 1880 โดยฝรั่งเศสหลังจากความสำเร็จในคลองสุเอซ ทว่าก้างขวางคอชิ้นใหญ่ของเหล่าวิศวกรคือระดับน้ำทะเลสองฝั่งที่ไม่เท่ากัน แถมยังต้องตัดผ่านเทือกเขาทั้งลูก การก่อสร้างจึงไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ดี
จนภายหลังอเมริกาเข้ามาสานงานต่อ และก่อสร้างให้เรือผ่านทะเลสาบที่ราบสูง (Gatun Lake) โดยการ”ปล่อยน้ำ”ลงทีละเขื่อน (Lock) ให้เรือค่อยผ่านทีละ Lock พอสร้างเสร็จอเมริกาก็ถือครองสิทธิบริหารเหนือคลองเกือบร้อยปีและสุดท้ายก็ยอมคืนให้ประเทศปานามาในปี 1999
2. ปัจจุบัน
สำหรับบทบาทของคลองปานามาต่อประเทศไทย ดังกับอุปมาที่เปรียบให้เป็นคลองผู้น้อง ด้วยสินค้าจากไทยมักขายให้กับเอเชียเป็นตลาดหลักถึงราวร้อยละ 60 ส่วนสินค้าที่ไปทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้รวมกันเพียงราวร้อยละ 20 แถมในร้อยละ 20 นั้นก็มีเพียงส่วนน้อยที่จะเข้าใช้บริการคลองปานามา
ส่วนบทบาทของคลองปานามาต่อโลกก็ยังเป็นรองคลองสุเอซเช่นกัน แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยต่อการค้าขายภายในภูมิภาค การเดินเรือผ่านคลองปานามาลดระยะทางเดินเรือได้ราว 12,200 ไมล์ทะเล หรือราว 22,597 กิโลเมตร จากที่ต้องอ้อมทวีปอเมริกาใต้ ทั้งยังต้องผ่านแหลมฮอร์น (Cape Horn) ที่มีคลื่นทะเลแปรปรวนและอันตรายต่อการเดินเรือสมุทร ด้วยเป็นจุดใกล้ชิดที่สุดจากทวีปแอนตาร์กติกาหรือขั้วโลกใต้

การเดินเรือข้ามฝากมหาสมุทรจึงจำต้องผ่านตัวคลองปานามา โดยมีเรือผ่านเฉลี่ยปีละประมาณ 14,000 ลำ ทั้งเรือตู้คอนเทนเนอร์ เรือเทกอง และที่สำคัญคือเรือบรรทุกน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ปีโตรเลียมซึ่งมีมูลค่าทางตลาดสูง สร้างรายได้ให้ประเทศปานามาปีละ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 1 แสนล้านบาท
ทว่าปัญหาใหญ่ของคลองปานามาคือเรื่อง “น้ำ” ด้วยการที่คลองต้องอาศัยทะเลสาบน้ำจืดบนที่ราบสูงในการให้บริการ และด้วยภาวะโลกร้อนทำให้บางปีมีฝนแล้งและมีปัญหาระดับน้ำ
ที่หนักสุดคือในช่วงครึ่งปีหลัง 2023 จนถึงครึ่งปีแรก 2024 ซึ่งเป็นหนึ่งในปีที่แห้งแล้งที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยในตอนนั้นมีค่าสภาวะเป็น El Nino ทำให้ในฤดูฝนของพื้นที่ (ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน) กลับไม่มีฝนลงมาอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ฤดูแล้งในปีต่อมา ก็คือช่วงเดือน ธันวาคม 2023 จนถึงเดือน เมษายน ของปี2024 ระดับน้ำลดลงเรื่อยๆจนมีปัญหาระดับน้ำเข้าขั้นวิกฤติ
ผลกระทบน้ำแล้งนี้ยังลามไปถึงภาคอุปโภคบริโภค และภาคเกษตรกรรม ประชาชนต้องซื้อน้ำจากขวดแกลลอนในการทำเกษตร ส่วนน้ำดื่มที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิตกลับกลายเป็นสินค้าราคาแพง
ส่วนผลกระทบทางทะเลก็วิกฤติเช่นกัน มีความแออัด (Congestion) มากสุดในประวัติศาสตร์ เรือต้องทอดสมอรอคิวเข้าคลองนอกชายฝั่ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์จำนวนกว่า 160 ลำ มีการจ่ายเงินเพื่อลัดคิวเข้าใช้บริการสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึง 2 แสนเหรียญสหรัฐ รวมไปถึงการลดจำกัดขนาดของเรือที่จะเข้าใช้บริการ
และพอเรือมีปัญหา สินค้าก็ย่อมมีปัญหาตาม ทั้งการดีเลย์ตั้งแต่หลักสัปดาห์จนเป็นหลักเดือน มีสินค้าเสียหาย ทั้งการหมดอายุและการยกเลิกคำสั่งซื้อของลูกค้า สินค้าน้ำมันก็ต้นทุนพุ่งขึ้นสูง และพอต้นทุนพลังงานสูงก็ย่อมลามทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา

ส่วนตอนนี้มีข่าวดีคือสภาวะกลับมาเป็นค่ากลาง(ค่าปกติที่ไม่ได้เป็นทั้ง El Nino และ La Nina) โดยมีฝนชุกกลับมาปกติตั้งแต่กลางปี 2024 จบทุกปัญหาไปหมดสิ้น และมีพยากรณ์ว่าจะคงค่าที่ไว้จนจบปี 2026 ส่วนการพยากรณ์เชิงวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพยากรณ์ปี 2027 ได้ แต่ก็อนุมานเบื้องต้นได้ว่าจะเป็นภาวะ La Nina เนื่องจากมักจะเป็นวัฏจักรหมุนเวียนสลับกัน ซึ่งหมายถึงฝนชุกมากกว่าปกติในพื้นที่
เพราะฉะนั้นสำหรับปัญหาเรื่องระดับน้ำของคลองปานามาก็ไม่น่าจะได้เห็นไปอีกอย่างน้อยสองถึงสามปี
ทว่าในอนาคตก็ยังไม่แน่นอน หากฝนแล้งกลับมาก็จะมีปัญหาระดับน้ำอีกรอบ โครงการขยายคลองที่มีข่าวลือหากทำจริงก็จะเป็นเพียงการเพิ่มขนาดเรือและปริมาณเรือผ่านคลอง ทว่าการใช้น้ำจะมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด
2.2 หลังจากนั้นทรัมป์ก็ชนะเลือกตั้งและขึ้นสู่อำนาจในต้นปี 2025
คลองปานามาที่พึ่งผ่านพ้นปัญหาน้ำแล้งมาก็เหมือนหนีเสือมาปะจระเข้ตัวเบ้อเร่อ หลังจากคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่จะ “ยึดคืน” คลองปานามามาเป็นของอเมริกา
ทว่าปานามาเป็นประเทศเอกราช คลองปานามาตั้งในพื้นที่ของประเทศ ตัวคลองก็ย่อมเป็นทรัพย์โดยชอบธรรมของประเทศ การที่อเมริกา “สร้างให้” ไม่ได้แปลว่ามีสิทธิครอบครอง ทั้งยัง “ส่งมอบ” ไปแล้ว โดยที่ผ่านมาปานามาก็ยังคงทำตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศอย่างครบถ้วนสมบูรณ์มาโดยตลอด
เทียบง่ายๆ กรณีเดียวกันกับเทพีเสรีภาพที่ฝรั่งเศส “สร้างให้” และ “ส่งมอบ” ให้แก่อเมริกาไปแล้ว ก็ไม่ได้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใด
นักการเมืองปานามาบางส่วนมองว่าสหรัฐอเมริกา ไม่มีสิทธิที่จะถือครองตั้งแต่แรกเลยด้วยซ้ำ การพยายามจะ “ยึดคืน” ยิ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะไม่ควรจะแตะต้องกับทรัพย์โดยชอบธรรมของประเทศอื่นตั้งแต่แรกแล้ว
เรียกได้ว่าถ้าอเมริกาไม่ใช้กำลังทางทหาร ก็แทบจะไม่มีทางยึดคลองไปได้
แต่มันยังมีความซับซ้อนมากกว่านั้น นอกจากทรัมป์จะอ้างจะยึดคืนแล้ว ยังกล่าวหาว่าในเรื่องอิทธิพลเหนือคลองปานามาของจีน ซึ่งทำให้เกิดเสียงแตกมากกว่าประเด็นเรื่องยึดคืน เพราะจีนมีการลงทุนในคลองปานามาอยู่จริง โดยหลักๆแล้วสองอย่าง
อย่างแรกคือการที่ปานามามีการเซ็นสัญญาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ BRI (Belt and Road Initiative) ทางทะเล หรือเส้นทางสายไหมทางทะเล สองคือมีการได้รับสัมปทานบริหาร “ท่าเรือ” ที่อยู่ใกล้ชิดบริเวณปากคลองปานามาทั้งสองฝั่งเหนือและใต้ ซึ่งมาจากบริษัทเอกชนฮ่องกงที่มีการลงทุนด้านโลจิสติกส์ในหลายประเทศทั่วโลกอย่าง Hutchison
ซึ่งหากลองวิเคราะห์ดู การเป็นส่วนหนึ่งของ BRI นั้นแปลว่าอยู่ใต้อิทธิพลของจีนจริงหรือไม่ ? แตกต่างจากข้อตกลงการค้าที่ชาติใดๆก็ทำอย่างไร ? อีกทั้งเรื่องการสัมปทานท่าเรือของ Hutchison เอง ก็มีการลงทุนในประเทศไทยเหมือนกัน โดยเป็นเอกชนผู้ลงทุนรายหนึ่งใน Terminal ของท่าเรือแหลมฉบัง ด้วยปัจจัยนี้ทำให้ไทยและท่าเรือแหลมฉบังตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีนเหมือนกับข้อกล่าวอ้างของทรัมป์ด้วยหรือไม่ ? ในเมื่อ Terminal อื่นในท่าเรือแหลมฉบังก็มีบริษัทเอกชนผู้ลงทุนที่เป็นชาติอื่นๆเหมือนกัน

ทว่าท่ามกลางเสียงแตกนี้ รัฐปานามาได้ตัดสินใจจบความสัมพันธ์กับจีน โดยการยกเลิกสัญญา BRI แถม Hutchison ที่มีการลงทุนในท่าเรือทั่วโลกกลับตัดสินใจขายหุ้นทิ้งแทบทั้งหมด โดยผู้ที่ซื้อก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่เป็น BlackRock บริษัทมหาชนในตลาดหุ้นอเมริกัน ร่วมกับสายเรืออันดับหนึ่งของโลกในเวลานี้อย่าง MSC
3. อนาคต
ประเด็นสำคัญของคลองปานามา ที่จะส่งผลกระทบต่อโลก จากนี้จะแบ่งเป็นสองประเด็นหลักๆ คือเรื่องปัญหาน้ำ กับการพยายามยึดคลองของอเมริกา
3.1 ประเด็นแรกเรื่องระดับน้ำ ระยะสั้นยังพอสบายใจได้อยู่บ้างว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี แต่ในระยะยาว หากปัญหาฝนแล้ง/น้ำแล้ง คลองปานามาจะจัดการกับปัญหาอย่างไร ซึ่งก็แน่นอนว่าการขยายคลองไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาระดับน้ำ
มีข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจและมีการพยายามผลักดันมาโดยตลอด นั่นคือให้ใช้การ “สูบน้ำ” ในการบริการเรือ แทนที่การปล่อยน้ำจืดจากที่สูงของ Gatun Lake
ซึ่งในทางวิศวกรรมนั้นดูเหมือนจะเป็นไปได้โดยง่าย แต่ในทางเศรษฐศาสตร์นั่นหมายถึงการสูบน้ำมหาศาลหลายล้านล้านลูกบาศ์กเมตรต่อวัน พลังงานมหาศาล และ “ต้นทุน”มหาศาล
นั่นแปลว่าค่าใช้บริการผ่านคลองของเรือ ที่ปัจจุบันคิดราคาต่อลำจะพุ่งสูงขึ้น และพอต้นทุนของสายเรือสูงขึ้น ย่อมหมายถึงต้นทุนโลจิสติกส์ของ Shippers ที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน
3.2 ประเด็นที่สองคือการพยายามยึดคลองของอเมริกา
หากทรัมป์ยังไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ในปัจจุบัน การพยายามจะยึดคืนจะทำอย่างไรต่อ ? การใช้กำลังทางทหารจะเป็นไปได้หรือไม่ ?
ย้อนไปในอดีต อเมริกาเคยยกพลขึ้นบกโจมตีปานามามาแล้วช่วงปลายปี 1989 จนถึงต้นปี 1990 ในปฎิบัติการ “Just Cause” ซึ่งเป็นปฎิบัติการทางทหารครั้งที่ใหญ่สุดในขณะนั้นนับตั้งแต่สงครามเวียดนาม โดยมีสาเหตุมาจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์และการมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดของนายพลเผด็จการ Noriega
ซึ่งเหตุการณ์นี้ถึงแม้จะมีเหตุผลหนักแน่นและหลักฐานชัดเจน ก็ยังถูกตั้งคำถามในความเหมาะสมในการใช้กำลังทางทหารที่เกินความจำเป็น หากลองถามทหารผ่านศึกดูอาจจะได้รู้จักอีกชื่อเรียกว่าปฎิบัติการ “Just Because” แปลไทยได้ว่าปฎิบัติการที่ต้องทำไปอย่างนั้น แค่เพียงเพราะต้องทำ ทำไปตามคำสั่ง ไม่ได้มีความสลักสำคัญใด
เพราะในสมัยนั้นปานามาไม่ได้มีกำลังอำนาจใดจะต่อกรกับอเมริกาได้เลย คนอเมริกันเรียกว่าเป็นการเอารถถังไปทับมด ถ้าเป็นสำนวนไทยก็คือขี่ช้างจับตั๊กแตน

เทียบกันแล้ว ขนาดเหตุผลร้ายแรงสำหรับรัฐบาลอเมริกาอย่าง “คอมมิวนิสต์” และ “ยาเสพติด” ยังถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการใช้กำลังกับประเทศเล็กๆอย่างปานามา ส่วนเหตุผลในปัจจุบันอย่าง “ความอยากได้” นับได้ว่ามีน้ำหนักเพียงน้อยนิดและอ่อนเกินไปมากที่จะใช้กำลังทางทหาร อีกทั้งอิทธิพลของจีนเหนือคลองที่เป็นอีกข้อกล่าวอ้างก็น่าจะจบลงไปแล้ว
ดังนั้นสื่อต่างประเทศ หรือแม้แต่สื่อในประเทศอเมริกันเองก็ยังมองว่าเป็นไปได้น้อยมากที่อเมริกาจะตัดสินใจใช้กำลังทางทหาร
ดังนั้นต้องมาดูว่าอเมริกาจะยังไปต่อไหม จะมีความพยายามยึดครองโดยสันติวิธีไหม
เริ่มแรกต้องดูที่ความจำเป็นของอเมริกา ซึ่งตอนนี้จำต้องหาทางลดต้นทุนโลจิสติกส์ของอเมริกันให้ได้ หลังจากทรัมป์ไปหนุน ILA หรือสหภาพแรงงานท่าเรือชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา ในการประท้วงใหญ่เมื่อช่วงปลายปีก่อน จนได้รับชัยชนะและได้ตามคำเรียกร้องทั้งค่าจ้างมหาศาลมากสุดเป็นประวัติการณ์ และจำกัดการใช้เทคโนโลยีในท่าเรือเพื่อปกป้องอาชีพแรงงาน (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ : https://bit.ly/3W6hi19 )
แน่นอนว่าชัยชนะของ ILA จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของอเมริกันพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการได้สัญญาแรงงานใหม่นี้จะมีอายุการใช้งานถึง 6 ปีเต็ม อเมริกาจึงจำต้องหาทางลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ
และสินค้าอเมริกันยังถือเป็นลูกค้าอันดับ 1 ของคลองปานามา จึงอาจเป็นเหตุให้ทรัมป์เบนเข็มไปในทิศทางให้มีการยึดคืนคลองปานามาให้จงได้ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศนั่นเอง
ทีนี้ลองมาดูที่อำนาจ/อิทธิพลเหนือการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ของทั้งสองรัฐ
เริ่มที่ปานามา โดยเป็นรัฐที่มีเรือสินค้าระหว่างประเทศ “ถือธง” มากที่สุดเป็นอับ1ของโลก กลับกันกับสหรัฐที่แทบไม่มีเลย ส่วนสายเรือหรือผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเล (ส่วนมากเป็นสัญชาติยุโรปหรือเอเชีย) ปานามาไม่มีข้อได้เปรียบในประเด็นนี้ ในขณะที่สายเรือสัญชาติอเมริกาพอมีอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นสายเรือขนาดเล็กมาก มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมาทั้งหมดยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นของทั้งโลก
สรุปคือปานามาค่อนข้างเป็นต่อในเรื่องอำนาจ/อิทธิพลเหนือทะเลถ้าไม่นับกำลังทางทหาร แต่อเมริกาเองก็เป็นประเทศใหญ่ ขนาดเศรษฐกิจและการบริโภคของปานามาเทียบกันไม่ได้เลย ดังนั้นการกดดันจากสหรัฐก็ใช่ว่าจะไม่มีน้ำหนักอะไร ดังเช่นที่มีผลสำเร็จในการจำกัดอิทธิพลของจีนเหนือพื้นที่
ดังนั้นสื่อต่างประเทศหลายเจ้าก็ยังคงมองว่าการคำกล่าวอ้างของทรัมป์เป็นเพียงนัยยะทางการเมือง และเป็นแรงกดดันในการเจรจา เพื่อนำไปสู่การตกลงในรูปแบบ “ความร่วมมือ” เท่านั้น และการ “ยึดคืน” ยังเป็นไปได้ยากมาก
สำหรับผู้ส่งออกไทย ยังเบาใจได้อยู่บ้างว่าจะเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจริงๆ ด้วยการที่คลองปานามาไม่ได้อยู่ในเส้นทางส่งออกสำคัญของสินค้าไทยตั้งแต่แรกแล้ว ทว่าเหล่าส่วนน้อยนั้นก็ยังน่ากังวลตรงที่ไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อยยังไงก็จะได้รับผลกระทบอยู่ดี โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนค่าระวาง ซึ่งในตอนนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าราคาค่าระวางสำหรับปีนี้จะขึ้นหรือลง แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า สิบปีหลังจากนี้ ค่าระวางจะผันผวนกว่าสิบปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
ที่น่ากังวลอย่างแท้จริงต่อการส่งออกไทย เศรษฐกิจไทย รวมไปถึงทั้งเศรษฐกิจโลก คือปัญหาเรื่อง “ไฟ” ที่คลองผู้พี่ต้องเผชิญอย่างคลองสุเอซต่างหาก
ติดตาม EP2 – “ไฟ” : The Fire of Suez Canal ได้ที่ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย