ในการแถลงข่าวสถานการณ์ส่งออกประจำเดือนช่วงเช้าวันนี้ที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) ชี้ว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,707.1ขยายตัวร้อยละ 14 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 906,520 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4
แต่ประเด็นร้อนแรงที่สุดแน่นอนว่าเป็นเรื่อง Reciprocal Tariff ของทรัมป์ที่ประกาศแจกจ่ายให้ชาวโลกพร้อมเรียกว่าเป็น “การปลดแอก” และประเทศไทยเราได้รับอัตราภาษีตอบโต้เป็น 36% ที่แม้จะน้อยกว่าเพื่อนบ้านคู่แข่งอย่างเวียดนาม (46%) แต่ก็มากกว่าฟิลิปปินส์(17%) มาเลเซีย(24%) และอินโดนีเซีย (32%)
โดยสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ซึ่งเป็นราว 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้มาตรการนี้เสี่ยงจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออกท็อป 15 ที่มีการส่งออกสหรัฐ มูลค่าสูง สำหรับสินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูง ได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น
ซึ่งตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าตัวแปรสำคัญหลังจากนี้คือการเจรจาของภาครัฐ ที่อาจชี้ชะตาหัวก้อยของผู้ส่งออกไทย โดยในการแถลงข่าวฯที่ผ่านมา สภาผู้ส่งออกจึงได้มีข้อเสนอแนะสำคัญ “3 เร่ง” ที่จะช่วยรับมือ Reciprocal Tariff ดังนี้
1) เร่งเจรจาสหรัฐ
1.1) ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
1.2) เร่งนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการจากสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้า
1.3) ใช้แนวทาง ASEAN+ ในการเจรจา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับสหรัฐ
2) เร่งเจรจาและใช้ประโยชน์ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า และกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐ โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน
3) เร่งปฏิรูปการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดย
3.1) สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรม ดังนี้
- 3.1.1) ใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบหลัก
- 3.1.2) การมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมต้นน้ำและซัพพลายเออร์ภายในประเทศ
- 3.1.3) อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- 3.1.4) เน้นต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงภายในประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยมีการยกระดับ
3.2) เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า จากการหลบเลี่ยงมาตรการสหรัฐเข้ามาทุ่มตลาดไทย รวมถึงการทำ re-export ผ่าน Free Zone
3.3) เร่งปฏิรูประบบโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศของไทย ให้แข่งขันได้ อาทิ เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง เร่งพัฒนาระบบ National Single Window ให้เป็น Single Submission โดยสมบูรณ์ เร่งรัดพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) และส่งเสริมการถ่ายลำ (Transshipment) เป็นต้น
ทั้งนี้เราแนะนำผู้ส่งออกให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ให้พร้อมรับมือและปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะการดำเนินการด้านนโยบายการค้าการเจรจาของภาครัฐ